วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

ชนเผ่าบอนโด


เผ่าบอนโด (Bondo tribes)

เผ่าบอนโด (Bondo tribes) หรือ บอนดา (Bonda) เป็นหนึ่งในชนเผ่าที่เก่าแก่มากที่สุด และมีการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมน้อยที่สุด ที่หลงเหลืออยู่ในอินเดีย ชาวบอนโดอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงบนเขาหรือบริเวณลาดเขาที่มีความสูงประมาณ 1000 เมตร ในพื้นที่ป่าผลัดใบทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐโอริสสา โดยเฉพาะในเขตอำเภอมาลกันคีรี (Malkangiri)
โดยสัณฐานแล้วชาวบอนโดมีรูปร่างเตี้ย จมูกกว้าง หน้ากลม พวกเขาเรียกตนเองว่า เรโม (Remo) และภาษาที่ใช้ก็เรียกว่า ภาษาเรโม เป็นภาษาในกลุ่ม มุนดา (Munda) ซึ่งเป็นภาษาย่อยในตระกูลออสโตรเอเชียติก (Austro-Asiatic Family) แต่คนภายนอกเรียกพวกเขาว่า บอนโด ตามชื่อของภูเขา จากการสำรวจของนักมานุษยวิทยาและผู้เชี่ยวชาญทางสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยอานธระ (Andhra University) พบว่ามีชาวบอนโดหลงเหลืออยู่ประมาณ 5,300 คน กระจายอยู่ในชุมชน 35 แห่ง
ชาวบอนโดดำรงชีพด้วยการทำไร่เลื่อนลอย เก็บหาของป่า ล่าสัตว์ และบ้างก็ทำเกษตรกรรมถาวร ปลูกข้าวฟ่าง ข้าว ผักและผลไม้ต่างๆ ส่วนสัตว์ที่เลี้ยงก็มีวัว แพะ แกะ หมู เป็ดไก่ เป็นต้น พวกเขาค่อนข้างแยกตัว ไม่ไว้ใจคนแปลกหน้า และจะไม่อนุญาตให้เข้าไปในเขตถิ่นที่อยู่ของตน การเดินทางเข้าไปยังถิ่นที่อยู่ของพวกเขานั้นอาจไม่ปลอดภัย เราจึงจะพบเห็นชาวบอนโดได้เวลาที่พวกเขาลงจากเขานำสินค้ามาขายในตลาด
ลักษณะนิสัยของชาวบอนโดค่อนข้างก้าวร้าว ดื้อรั้น รักอิสระเป็นอย่างมาก และชอบแยกตัวอยู่สันโดษ ประชากรหญิงมีมากกว่าชาย และผู้หญิงจะนิยมแต่งงานกับผู้ชายที่มีอายุน้อยกว่า ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในสังคมบอนโด เพื่อเป็นหลักประกันว่าพวกเธอจะได้รับการเลี้ยงดูจากสามีจนวันตาย
ผู้ชายบอนโดนิยมดื่มเหล้าที่กลั่นเองจากดอกไม้ป่าชนิดหนึ่ง และอาจส่งผลต่อนิสัยก้าวร้าว ดุดัน และชอบใช้ความรุนแรง ในด้านการแต่งกายชายชาวบอนโดนุ่งห่มเสื้อผ้าน้อยชิ้น และปกคลุมเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศเท่านั้น ผ้านุ่งของผู้ชายเรียกว่า โกสี (Gosi) เป็นผ้ายาวประมาณ 3 ฟุต และกว่าง 1.5 ฟุต
ส่วนผู้หญิงชาวบอนโดจะโกนศีรษะ และคาดรอบศีรษะด้วยแถบลูกปัดเป็นเครื่องประดับ ทั้งยังนิยมสวมสร้อยลูกปัดขนาดยาวจำนวนมากที่คอและยาวตกลงมาถึงหน้าท้อง ปิดคลุมส่วนหน้าอก สวมห่วงคอขนาดใหญ่ และต่างหู ที่ทำด้วยทองเหลืองหรือเงิน ส่วนล่างมีผ้าผืนสั้นทอมือจากเส้นใยไม้ในป่าที่เรียกว่า ริงกา (ringa) สวมใส่คล้ายกระโปรงสั้น และยังมีผ้าสี่เหลี่ยมชิ้นใหญ่คลุมไหล่โดยมัดเป็นปมที่ด้านหน้า
ด้านความเชื่อของชาวบอนโดมีลักษณะผสมระหว่างฮินดูและความเชื่อในเรื่องวิญญาณ ที่เรียกว่า เซเรม (Sairem) พวกเขาเชื่อว่าภายหลังที่เสียชีวิตแล้ววิญญาณจะไปสู่เทพเจ้าแห่งดาบ ที่สถิตย์อยู่ที่ต้นไทร บนยอดเขาใกล้หมู่บ้าน และวิญญาณนั้นจะกลับมาเกิดใหม่เป็นคนหรือเป็นสัตว์ในวันหน้า
พวกเขาจัดพิธีศพเพื่อความพอใจวิญญาณ จึงต้องบูชายัญด้วยเลือดสัตว์และตั้งอนุสาวรีย์หินที่เรียกว่า ดอลเมน (Dolmen) เพื่อเป็นเกียรติแด่ผู้ตาย และเชื่อว่าถ้าไม่ปฏิบัติตามวิญญาณอาจสร้างความเจ็บป่วยให้สมาชิกในครอบครัว และอาจทำอันตรายต่อพืชผลและสัตว์เลี้ยง
ด้วยลักษณะนิสัยที่แยกตัวสันโดษและอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลบนเขาสูง ทำให้ชาวบอนโดสามารถอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของตนไว้ได้ อีกทั้งชนเผ่าบอนโดได้ถูกจัดให้เป็นกลุ่มชนเผ่า (Scheduled Tribes) ตามกฎหมายมาตรา 342 แห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย ที่รัฐจะต้องให้การสนับสนุนและพัฒนาด้านต่างๆ รวมทั้งการปกป้องคุ้มครองเป็นพิเศษ
Information courtesy:

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น