ชาวจักม่า (Chakma) เป็นเผ่าพันธุ์มองโกลอยด์ที่มีความเกี่ยวดองกับประชาชนทางตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า จักม่า เป็นชนเผ่าที่ใหญ่ที่สุดที่พบในบริเวณเชิงเขาทางตะวันออกของบังคลาเทศที่เรียกว่า เขาจิตตากอง (Chittagong Hill Tracts) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวเขาที่กั้นระหว่างพม่าและทางตะวันออกของอินเดีย ภูมิประเทศแถบนี้มีอากาศอบอุ่น ชื้น และมีฝนตกชุกในฤดูมรสุม
ชื่อของพวกเขาปรากฏครั้งแรกโดยผู้ทำการสำมะโนประชากรชาวอังกฤษ ที่บรรยายถึงชนชาวเขาบางกลุ่มที่อาศัยอยู่บริเวณเขาจิตตากอง เมื่ออังกฤษออกไปจากอินเดียในปี ค.ศ 1947 อินเดียต้องแยกออกเป็นสองประเทศคือ อินเดีย และปากีสถาน ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้คาดหมายว่าจะได้เป็นส่วนหนึ่งของอินเดีย แต่กลับถูกแบ่งแยกเป็นของปากีสถาน ทำให้เกิดความไม่พอใจ เพราะประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวจักม่า ที่นับถือพุทธศาสนา และมีความรู้สึกคล้ายคลึงทางวัฒนธรรมกับชาวฮินดูมากกว่าชาวมุสลิมในปากีสถาน
ประชากรจักม่าคาดว่ามีประมาณ 550,000 คน ส่วนใหญ่ราว 300,000 ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่เขาจิตตากอง ประเทศบังคลาเทศ ประมาณ 80,000 คน อาศัยอยู่ในรัฐมิโซรัม (Mizoram) และตรีปุระ (Tripura) และอีก 20,000 คนอยู่ในพม่า ชาวจักม่าพูดภาษาถิ่นเบงกอลี (Bengali) และใช้ตัวอักษรมาตรฐานของเบงกอลี
ผู้นำของชาวจักม่าเรียกว่า เดวัน (Dewan) ชาวบ้านจะเชื่อฟังดาวันและขอคำแนะนำจากเขากรณีเกิดวิกฤติการณ์ขึ้นในชุมชน ชาวจักม่ามีสภาหมู่บ้าน ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นผู้ใหญ่และหัวหน้าของพวกเขา มีหน้าที่แก้ไขปัญหากรณีพิพาทในชุมชน ข้อขัดแย้งเล็กๆ น้อยๆ และกรณีลักขโมยเล็กน้อยในชุมชน ส่วนที่เป็นข้อขัดแย้งสำคัญ ส่วนคดีอาชญากรรม จะตัดสินโดยผู้ที่มีอำนาจสูงทีเรียกว่าการ์บารี (Karbari) เป็นสมาชิกผู้ทรงเกียรติที่รับเลือกมาโดยชาวบ้าน
ตำนานของชาวจักม่า กล่าวว่าสืบสายมาจากอาณาจักรเก่าแก่ที่เรียกว่า จำปักนคร (Champaknagar) พระโอรสองค์หนึ่งของกษัตริย์แห่งนครนี้ได้ยกทัพขนาดใหญ่ไปทางตะวันออกด้วยความหวังที่จะพิชิตแผ่นดินแห่งใหม่ ทรงข้ามทะเล Meghna และยึดได้อาณาจักร อารกัน (Arakan) ในพม่า และตั้งรกรากอยู่ที่นั่น ผู้คนของพระองค์ได้แต่งงานข้ามวัฒนธรรมกับชนท้องถิ่นพม่าและค่อยๆ รับเอาความเชื่อทางพุทธศาสนาเข้ามา
ชาวจักม่านับถือพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท หมู่บ้านของชาวจักม่าทุกที่จะมีวัดหนึ่งแห่งที่เรียกว่า กาง (Kaang) ส่วนพระสงฆ์จะเรียกว่า ภิกขุ (Bhikhus) ซึ่งจะเป็นผู้นำในงานเทศกาลและพิธีเฉลิมฉลองทางพุทธศาสนาต่างๆ ชาวจักม่ายังบูชาเทพเจ้าต่างๆ ของฮินดูด้วย เช่น พระลักษมี ในฐานะเทพีแห่งการเก็บเกี่ยว พวกเขาจะบูชายัญแพะ ไก่ หรือเป็ด เพื่อ calm the spirits ที่เชื่อว่านำโรคภัยและความเจ็บป่วยมาให้ แม้ว่าเรื่องการบูชายัญสัตว์ทั้งเป็นนี้ขัดกับหลักความเชื่อทางพุทธศาสนาก็ตาม อย่างไรก็ตามปัจจุบันนี้อิทธิพลจากตะวันตกและมิชชั่นแนรี่ ทำให้ชนเผ่าจักม่าจำนวนมากเปลี่ยนมานับถือคริสตศาสนา
จักม่าแบ่งออกเป็นตระกูลต่างๆ ที่เรียกว่า โกจา (gojas) ซึ่งยังแบ่งเป็นตระกูลย่อยที่เรียกว่า กุฏี (guttis) สมาชิกที่อยู่ในตระกูลย่อยเดียวกันห้ามแต่งงานกัน บิดามารดาจะเป็นผู้จัดการแต่งงานให้ เจ้าสาวของชนเผ่าจักม่าจะได้รับสินสอดจากครอบครัวของฝ่ายชาย ซึ่งแตกต่างจากวัฒนธรรมอินเดียที่ฝ่ายชายเป็นฝ่ายได้รับ ซึ่งเป็นการเจรจาพูดคุยของทั้งสองครอบครัว พิธีแต่งงานของชาวจักม่า เรียกว่า ชูมูลอง (Chumulong) ซึ่งจ้ดโดยพระสงฆ์
ผู้ชายชายจักม่านุ่งห่มเสื้อผ้าตามแบบสากลนิยม ได้แก่ เสื้อเชิร์ท และกางเกงขายาว แต่ผู้หญิงยังคงรักษาการแต่งกายตามแบบประเพณีนิยม ประกอบด้วยผ้าสองผืน ผืนหนึ่งนุ่งห่มเป็นผ้าถุงด้านล่างซึ่งยาวกรอมข้อเท้า สีดั้งเดิมจะใช้สีดำหรือน้ำเงิน มีขอบสีแดงที่ส่วนบนและล่างของผ้า ผ้าชิ้นที่สองจะพันแน่นรอบอก ซึ่งเป็นผ้าทอด้วยลายหลากสีสัน ผู้หญิงชาวจักม่ามีทักษะในการทอผ้าที่ดีและทอผ้าขึ้นใช้เอง
นิยมสร้างบ้านตามไหล่เขาใกล้แม่น้ำหรือลำธาร เครือญาติจะตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงกัน บ้านตามธรรมเนียมนิยมของชาวจักม่าจะสร้างด้วยไม้ไผ่ บนฐานไม้ไผ่หรือพื้นไม้ที่มีใต้ถุนสูงจากพื้นราว 2 เมตร ชาวจักม่าทำการเกษตร จะถากถางต้นไม้และเผาในช่วงฤดูแล้งราวเดือนเมษายน จะทำการเพาะปลูกในฤดูฝน และเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน
อาหารหลักของชาวจักม่าคือ ข้าว และมีธัญพืชอื่นๆ เป็นอาหารเสริม ได้แก่ ข้าวฟ่าง ข้าวโพด มัสตาร์ด ส่วนพืชผักที่ใช้เป็นอาหาร ได้แก่ มันเทศ ฟักทอง ผักจำพวกแตงต่างๆ รวมทั้งพืชผักและผลไม้ที่หาได้จากป่าด้วย ชาวจักม่ารับประทานเนื้อสัตว์ทั้ง ปลา ไก่ และแม้แต่หมู ชาวจักม่าไม่ชอบดื่มนม แต่พวกเขาดื่มอัลกอฮอล์ที่หมักเองในครัวเรือนทำมาจากข้าว โดยเฉพาะนิยมดื่มในช่วงเทศกาลและงานสำคัญทางสังคมต่างๆ
ชาวจักม่าฉลองเทศกาลสำคัญเช่นเดียวกับชาวพุทธทั่วไป โดยเฉพาะในวันวิสาขบูชา (Buddha Purnima) ถือเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุด ชาวจักม่าจะไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด จุดเทียน ฟังเทศนา แจกจ่ายอาหารแก่คนยากจน บิชู (Bishu) เป็นอีกเทศกาลสำคัญของชาวจักม่า เป็นเทศกาลที่จัดขึ้นสามวัน ซึ่งตรงกับวันปีใหม่ของเบงกอลี เทศกาลนี้จะฉลองกันอย่างสนุกสนาน
Information courtesy:
อ้างอิง
http://learningpune.com/?p=16945 เรียนอินเดีย-ปูเณ่