เชนชู (Chenchu) เป็นชนเผ่าดั้งเดิมของอินเดียที่อาศัยอยู่ในป่าทึบ บริเวณเทือกเขาทางตอนกลางของรัฐอานธรประเทศ ปัจจุบันถูกจำกัดให้อยู่ในเขตนาลลามาไลย (Nallamalai) โดยเฉพาะในอำเภอมหาบูบนาการ์ (Mahabubnagar) นาลกอนดา (Nalgonda) ปรากชัม (Praksham) กุนตูร์ (Guntur) และกูร์นูล (kurnool)
ชาวเชนชู มีรูปร่างเตี้ย ผอมบาง ผิวคล้ำ ผมหยิกเป็นลอน ศีรษะยาว ใบหน้ากว้าง คิ้วเข้ม จมูกแบน มีผมหยิกม้วน ครอบครัวของชาวเชนชูเป็นครอบครัวเดี่ยว ประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก ซึ่งสามีภรรยามีสิทธิเท่าเทียมกัน
ที่อยู่อาศัยของพวกเขามีลักษณะเป็นกระท่อมมุงจาก ผนังเป็นไม้ขัดแตะ ชาวเชนชูสร้างกระท่อมอยู่รวมกันเป็นหมุ่บ้านที่เรียกว่า เปนตา (Penta) แต่ละเปนตาประกอบด้วยกระท่อมไม่กี่หลัง ตั้งเป็นกลุ่มตามตระกูล เครือญาติกันจะตั้งกระท่อมอยู่ใกล้เคียงกัน ส่วนมากพวกเขาจะอาศัยอยู่ประจำในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว ส่วนในฤดูร้อนจะย้ายออกไปอยู่ในที่โล่ง
ชาวเชนชู เป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่ยังมีชีวิตพึ่งพาอาศัยป่าเป็นแหล่งอาหารหลัก พวกเขาไม่ทำเกษตรกรรม แต่ดำรงชีพด้วยการล่าสัตว์หาของป่า และก็มีสัมพันธภาพอันดีกับชนพื้นราบ พวกเขาเคลื่อนย้ายเป็นกลุ่มเพื่อหาอาหาร เช่น ผลไม้ รากไม้ หัวเผือกหัวมัน น้ำผึ้ง มะขาม ดอกมาฮัว (mahua) เพื่อนำมาขายในตลาดท้องถิ่น รวมทั้งยังทำจานและถ้วยจากใบยาสูบ ทั้งยังนำดอกมาฮัวมาทำเป็นสุราขายในตลาดอีกด้วย
เนื่องจากอาศัยอยู่ในป่าพวกเขาจึงเป็นนักล่าที่เชี่ยวชาญในการล่ากวาง หมูป่า กระต่าย ไก่ป่า หนู และนก โดยใช้ธนูและลูกศรเป็นอาวุธ แต่เนื่องจากข้อจำกัดของแหล่งอาหารในปัจจุบัน ทำให้ล่าได้แต่สัตว์ขนาดเล็กเท่านั้น
ชาวเชนชู มีภาษาพูดของตนเอง ที่เรียกว่า ภาษาเชนชู ซึ่งเป็นภาษาหนึ่งในสาขาภาษาเตเลกู (Telegu) ในตระกูลภาษาดราวิเดียน ภาษาเชนชู (Chenchu) บ้างก็เรียก เชนชูคูลาม (Chenchucoolam) เชนชวาร์ (Chenchwar) เชนสวาร์ (Chenswar) หรือ ชนชารู (Choncharu)
ในด้านความเชื่อชาวเชนชูนับถือเทพเจ้าหลายองค์เช่นเดียวกับชาวฮินดู แต่เทพหลักที่พวกเขานับถือคือ ภคบันตารู (Bhagaban taru) ผู้อาศัยอยู่บนท้องฟ้าและดูแลชาวเชนชูทั้งมวล เทพอีกองค์ที่พวกเขาบูชาคือ เทวีกาเรลาไมซามา (Garelamai Sama) เทพีแห่งป่า เชื่อกันว่าพระนางจะคอยปกป้องพวกเขาจากอันตรายต่างๆ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในป่าทึบ ส่วนมากเป็นเทพแห่งป่าเขาและการรักษาโรค เนื่องจากชีวิตของพวกเขาสัมพันธ์กับป่า และพวกเขายังรับเอาเทพเจ้าฮินดูมานับถือด้วย
โดยลักษณะนิสัยของชาวเชนชูที่ชอบอิสระและเสรีภาพ ทำให้พวกเขาไม่ชอบถูกจำกัดอยู่ในถิ่นที่อยู่ใดโดยเฉพาะ ความสามารถในการเคลื่อนย้ายจากกลุ่มหนึ่งไปยังกลุ่มอื่นๆ ทำให้หนุ่มและสาวชาวเชนชูมีอิสระในการเลือกคู่ครองที่ตนอยากจะใช้ชีวิตอยู่ด้วย
ปัจจุบันถิ่นที่อยู่และที่หากินของชาวเชนชู ได้รับการประกาศให้เป็นเขตสงวนพันธุ์เสือ และรัฐบาลพยายามอย่างหนักที่จะเปลี่ยนแปลงพวกเขาให้หันมาทำเกษตรกรรมแทนการล่าสัตว์หาของป่าเหมือนเมื่อก่อน แต่ชาวเชนชูก็ปฏิเสธที่จะออกจากป่า และต่อสู้เพื่อรักษาวิถีชีวิตตามแบบเดิมของตน เพราะชาวเชนชูไม่ค่อยสนใจเรื่องเงินทองและความมั่งคั่ง มากไปกว่าอิสระและเสรีภาพในการดำรงชีพตามวิถีของตน
Information courtesy: